โรคกระดูกพรุนคืออะไร
โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่เนื้อกระดูกของร่างกายลดลงอย่างมาก
โครงสร้างของกระดูกที่เคยหนาแน่นประสานกันเป็นโยงใยรับน้ำหนักได้ดี ก็จะ
โปร่งบางไม่มีการติดต่อประสานกัน จึงทำให้กระดูกรับน้ำหนักได้ไม่ดีและเปราะ
หักได้ง่ายถึงแม้จะมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย เราเรียกภาวะการณ์นี้ว่า
โรคกระดูกพรุน หรือโรคกระดูกโปร่งบาง
เมื่อคนเรามีอายุสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกินกว่า 40 ปี วัยและปัจจัย
อื่นๆ จะมีผลทำให้กระบวนการสร้างกระดูกไม่สามารถไล่ทันกระบวนการสลาย
กระดูกได้ จึงมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปทุกๆวงจรของการสร้างและการสลาย
กระดูก ทำให้เนื้อกระดูกลดลงจนกระดูกบาง
ภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากว่าผู้ชาย เนื่องจากเนื้อกระดูกของหญิง
มีน้อยกว่าชาย นอกจากนี้เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนจะเกิดการขาดฮอร์โมนเพศหญิง
คือ เอสโตรเจน ทำให้เซลล์สลายกระดูกทำงานในอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ในคนสูงอายุ การทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเริ่มเสื่อมลง ไม่ว่า
จะเป็นการดูดซึมของทางเดินอาหาร การทำงานของตับและไต ทำให้การเปลี่ยน
วิตามินดีตามธรรมชาติให้เป็นรูปที่ออกฤทธิ์ได้จึงบกพร่องหรือลดน้อยลง เป็นเหตุ
ให้การดูดซึมของแคลเซี่ยมลดลงมากจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
จึงเกิดการดึงแคลเซี่ยมจากกระดูกมาใช้ ทำให้มีการสูญเสียปริมาณเนื้อกระดูกมาก
ขึ้นเรื่อยๆ กระดูกจะบางลงจนเปราะหักได้ง่าย
ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อยเป็นระยะเวลานานๆก็จะมีโอกาส
เป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย มีการศึกษาพบว่าคนไทยมีการรับประทานแคลเซี่ยม
โดยเฉลี่ยเพียงวันละ 361 มก./วัน ซึ่งน้อยกว่า ปริมาณที่ควรได้รับ
คนที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุน
ได้มากขึ้น เพราะเซลล์สลายกระดูกจะทำงานเพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงการสูบบุหรี่
การดื่มสุรา เละเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และการใช้ยาบางชนิด เช่น
ยากลุ่มสตีรอยด์ จะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่ายขึ้น
การรับประทานอาหารโปรตีน (เช่นเนื้อสัตว์) มากเกินไป หรือรับประทาน
อาหารที่เค็มจัด จะทำให้มีการขับถ่ายของแคลเซี่ยมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการรับประทาน
อาหารที่มีไฟเบอร์ ( กาก) มากเกินไป จะทำให้การดูดซึมของแคลเซี่ยมจากลำไส้ลดลง
เป็นผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
อาการของโรคกระดูกพรุน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนในระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง
ให้เห็น แต่เมื่อเริ่มมีอาการเกิดขึ้นแสดงว่าโรคกระดูกพรุนนั้นได้เป็นมากแล้ว ซึ่ง
อาการสำคัญคือ ปวดตามกระดูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระดูกส่วนกลางที่รับนำหนัก
เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และอาจมีอาการปวดตามข้อร่วมด้วย
ต่อมาความสูงของลำตัวจะค่อยๆลดลง และหลังจะโก่งค่อม เนื่องจาก
กระดูกสันหลังยุบตัวลง เมื่อหลังโก่งค่อมมากๆ นอกจากจะทำให้ปวดหลังมาก
และเคลื่อนไหวลำบากแล้ว ยังรบกวนต่อระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร
ทำให้ท้องอืดเฟ้อและท้องผูกเป็นประจำ
โรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของโรคกระดูกพรุนคือ กระดูกหัก แม้จะ
มีการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เช่นหกล้ม ตำแหน่งที่พบกระดูกหักบ่อยๆคือ
กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และ กระดูกข้อมือ
การป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน
ผู้ที่มีเนื้อกระดูกมากตั้งแต่แรก จะมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนได้น้อยกว่า
ผู้ที่มีเนื้อกระดูกน้อย ดังนั้นการสะสมเนื้อกระดูกของร่างกายให้มีมากที่สุดตั้งแต่
วัยหนุ่มสาวจึงเป็นการป้องกันโรคกาะดูกพรุนที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ควรให้ความ
สนใจในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุน ด้วยการปฏิบัติตนดังต่อไปนี้
1. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
2. รับประทาน อาหารที่อุดมด้วยธาตุแคลเซี่ยม
3. ออกกำลังกายที่เหมาะสมในระยะเวลาพอสมควรเป็นประจำ
การออกกำลังที่มีการลงนำหนักอย่างสม่ำเสมอ จะมีผลกระตุ้นการสร้าง
กระดูก ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทรงตัวได้ดีขึ้น อันเป็นการป้องกัน
การหกล้มได้ ดังนั้นการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุโดยการเดิน
ครั้งละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงติดต่อกันสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งก็เพียงพอแล้ว
4. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ชา กาแฟ
ไม่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไป ไม่รับประทานอาหาร
เค็มจัด หลีกเลี่ยงการใช้ยาพวกสตีรอยด์
5. ระวังไม่ให้หกล้ม
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนในระยะเริ่มแรก ทำได้โดยวัดความหนาแน่นของ
กระดูก (Bone Densitometer) ซึ่งสามารถตรวจพบการลดลงของเนื้อกระดูก
ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง |